ปัญหาจากการฉีดฟิลเลอร์ที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่งเลยคือ ฟิลเลอร์อุดตันเส้นเลือด ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่คนฉีดฟิลเลอร์ต้องแบกรับไว้ทุกครั้งที่ทำการฉีดฟิลเลอร์ เพราะการทำหัตถการทางการแพทย์แทบทุกประเภทมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ แต่จะมีโอกาสเกิดและมีความรุนแรงมากน้อยต่างกัน เช่น กรณีที่เกิดตาบอดขึ้น นับเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมาก
สารบัญ
- ทำไม ฟิลเลอร์อุดตันเส้นเลือด
- อาการที่สังเกตได้เมื่อ ฟิลเลอร์อุดตันเส้นเลือด
- ผลข้างเคียงการฉีดฟิลเลอร์ที่อาจะเกิดขึ้นได้
- ฟิลเลอร์ ไม่เหมาะกับการฉีดให้ใคร
ทำไม ฟิลเลอร์อุดตันเส้นเลือด
เนื่องจากใบหน้าเรานั้นมีเส้นเลือดอยู่มากมาย และมีการเชื่อมต่อกันเป็นร่างแห โดยมีทั้งเส้นเลือดแดง และเส้นเลือดดำครับ แต่ตัวที่ฉีดโดนแล้วมีปัญหาก็คือเส้นเลือดแดง เพราะเป็นเส้นเลือดที่มีแรงดันจากการเต้นของหัวใจและนำเลือดดีไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ บนใบหน้า ดังนั้นเวลามีก้อนอะไรก็ตามเข้าไปในเส้นเลือดแดง เช่น ฟิลเลอร์ หรือ ก้อนไขมัน ก็จะทำให้เกิดการอุดตันและขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้อวัยวะนั้นตายไปในที่สุด
อาการที่สังเกตได้เมื่อ ฟิลเลอร์อุดตันเส้นเลือด
ในช่วง 1-24 ชม.
แรกหลังฉีดฟิลเลอร์ หากมีอาการปวดรุนแรงบริเวณที่ฉีดและบริเวณใกล้เคียง มีผื่นแดงหรือมีตุ่มหนองขึ้นบริเวณที่ฉีดหรือบริเวณข้างเคียง อาจเกิดการอุดตันหลอดเลือดแดงขึ้นมา ดังนั้นควรรีบติดต่อคลินิกทันที เนื่องจากแพทย์สามารถฉีดสลายฟิลเลอร์ออก เพื่อแก้การอุดตันได้ และไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงตามมา เพราะการรักษา Filler อุดตันเส้นเลือดแดง ยิ่งสลายเร็วเท่าไหร่ ยิ่งดี
ในช่วง 12-72 ชม.
หลังฉีดฟิลเลอร์ หากมีอาการปวดรุนแรง หรือปวดหน่วง ๆ และปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ มีอาการแดงคล้ำของผิวหนังขึ้นบริเวณที่ฉีดหรือบริเวณข้างเคียงขึ้นมา ให้สงสัยว่าอาจจะเกิดการอุดตันเส้นเลือดดำบริเวณที่ฉีดหรือใกล้เคียง ให้รีบกลับมาหาหมอเพื่อทำการฉีดสลายฟิลเลอร์ลดการอุดตันอีกเช่นกัน
ในช่วง 3-7 วัน
ต่อมาหากเกิดอาการปวด บวม แดง ร้อน บริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ให้สงสัยว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้น ควรรีบกลับมาพบแพทย์เพื่อประเมิน และทำการรักษาต่อ ซึ่งโดยปกติแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เพื่อควบคุมการติดเชื้อ และอาจพิจารณาฉีดสลายฟิลเลอร์เมื่อการติดเชื้อหายไป
ผลข้างเคียงการฉีดฟิลเลอร์ที่อาจะเกิดขึ้นได้
อาการติดเชื้อจากการฉีดฟิลเลอร์
ซึ่งการติดเชื้อนั้นนอกจากต้องระวังเรื่องความสะอาดจากสถานพยาบาลและอุปกรณ์ที่ใช้แล้ว ผิวหนังของเรายังต้องสะอาดอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อเริม ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว หากเราเป็นผู้มีประวัติเคยติดเชื้อเริมควรปรึกษาแพทย์เพื่อทานยาต้านไวรัสก่อนทำการฉีดอย่างน้อย 7 วัน
อาการแดง ช้ำ เขียว หรือบวม
อาการเหล่านี้มาจากการที่เส้นเลือดฝอยบริเวณผิวหนังแตก ซึ่งสามารถพบได้เป็นปกติหลังจากการทำหัตถการทางการแพทย์ หากอาการดังกล่าวไม่หายไปและเกิดอาการผิวหนังตึงและมีเส้นเลือดฝอยชัดขึ้น เราเรียกอาการดังกล่าวว่าภาวะ telangiectasia เราสามารถรักษาให้หายขาดโดยการใช้ IPL (Intense Pulse Light) ที่ความยาวคลื่น 595 นาโนเมตรเป็นต้นไป
อาการนูน หรือคลำผิวหน้าแล้วพบว่าเป็นก้อนบริเวณที่ฉีด
ในกรณีนี้ควรรอหลังจากการทำ 1-3 สัปดาห์แล้วจึงไปพบแพทย์ เนื่องจากในระยะแรกฟิลเลอร์จะใช้เวลาในการสมานร่วมกับชั้นผิว เพื่อให้เกิดความเรียบเสมอกัน
ฟิลเลอร์ ไม่เหมาะกับการฉีดให้ใคร
- ผิวหนังมีการอักเสบหรือติดเชื้อที่อาจเกิดจากถุงน้ำ สิว ผื่น ลมพิษหรืออื่น ๆ ควรชะลอการฉีดไว้จนกว่าอาการอักเสบเหล่านี้จะได้รับการรักษา
- มีปัญหาเลือดออกมาก
- มีอาการแพ้อย่างรุนแรงหรือเคยมีประวัติเกิดอาการแพ้อย่างเฉียบพลัน
- ผู้ที่แแพ้สารประกอบใด ๆ ที่เป็นส่วนผสมในฟิลเลอร์ควรหลีกเลี่ยงการฉีดสารชนิดนั้น ๆ เช่นแพ้คอลลาเจนหรือไข่ แพ้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แพ้ลิโดเคน (ยาชา) แพ้แบคทีเรีย
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือด ข้อต่อ หรือเส้นเอ็นที่ส่งผลกระทบกับมือ ในกรณีที่ต้องการฉีดฟิลเลอร์บริเวณมือ
สรุป
ฟิลเลอร์อุดตันเส้นเลือด มีโอกาสเกิดได้จากแพทย์ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ ควรเลือกทำกับแพทย์ที่มีความชำนาญ มีเวลาและทำด้วยความระมัดระวัง และตัวเราเองควรหมั่นสังเกตุอาการหลังทำร่วมด้วยเพื่อช่วยลดความรุนแรงจากผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรง